Last updated: 19 ต.ค. 2565 | 29818 จำนวนผู้เข้าชม |
อาหารเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต อาหารแต่ละชนิดแต่ละอย่างของแต่ละพื้นที่มีความโดดเด่นที่ต่างกัน อาจจะพูดได้ว่าวัฒนธรรมอาหารของแต่ละชุมชนล้วนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและสะท้อนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ได้ เมื่อมีการติดต่อสื่อสารทั่วถึงกันการแพร่ขยายของวัฒนธรรมอาหารก็เกิดขึ้น ชาบูชาบู เป็นอาหารประเภทหนึ่งที่มีต้นกำเนิดจากประเทศญี่ปุ่นและได้รับความนิยมแพร่เข้ามาประเทศไทยตามกระแส เมื่อดูส่วนผสมหลักของชาบูชาบู ได้แก่ เนื้อแล่บางๆ อาหารทะเล ผักสด จะเห็นได้ว่าชาบูชาบูเป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ให้สารอาหารครบทั้ง 5 หมู่ เพราะให้ทั้งโปรตีนของเนื้อต่างๆ คาร์โบไฮเดรตจากเครื่องเทศหรือจำพวกแป้งจากผักที่เป็นส่วนประกอบของชาบู แร่ธาตุและวิตามินจากพืชผักต่างๆ ไขมันจากเนื้อสัตว์และอาหารทะเลที่มีระดับปานกลาง จึงเป็นอาหารที่เหมาะสมกับทุกกลุ่มและทุกวัยรวม ทั้งการรับประทานชาบูชาบูส่วนใหญ่จะเป็นการรวมกลุ่มรับประทานร่วมกันจึงเป็นการกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัว เครือญาติ หรือ เพื่อนร่วมงาน กระทั่งเกิดเป็นธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการทั้งใหญ่และเล็ก และยังมีแนวโน้มที่มีการเติบโตได้อีก แต่อย่างไรก็ตามผู้ที่ต้องการเป็นผู้ประกอบการมือใหม่ของธุรกิจนี้ความมีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับธุรกิจนี้ก่อน เพื่อความมั่นคงและกำไรที่ยาวนาน
ชาบูชาบู (Shabu Shabu) เป็นอาหารประเภทหม้อไฟ อาหารตำรับญี่ปุ่นเมนูนี้ถือกำเนิดจากเมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 เป็นการดัดแปลงมาจากอาหารประเภทหม้อไฟของปักกิ่ง ประเทศจีน ซึ่งเป็นอาหารลักษณะเดียวกันแตกต่างกันที่ดั้งเดิมประเทศจีนใช้เนื้อแกะ แต่มีการนำมาดัดแปลงโดยใช้เนื้อสัตว์ต่างๆ แทน เช่น วัว, หมู, ไก่, ปลา ซึ่งคำว่า ชาบู-ชาบู เลียนมาจากเสียงของเนื้อที่แล่บางๆ คีบลงไปจุ่มในน้ำซุปแล้วส่ายมือไปมา ทำให้เกิดเสียงที่ได้ยินว่า ชาบูชาบู โดยในตอนแรกนั้นเป็นชื่อของเมนูหนึ่งที่เสิร์ฟเป็นหม้อไฟ คล้ายกับสุกียากี้ แต่เนื้อจะแล่บางกว่า กินพร้อมกับน้ำจิ้มที่มีรสเผ็ดมากกว่าและหวานน้อยกว่าน้ำจิ้มสุกี้ หลังจากเป็นที่นิยมภัตตาคารซูอิฮิโระได้จดทะเบียนชื่อ ชาบู-ชาบู เป็นเครื่องหมายการค้าใน ค.ศ.1955 นับแต่นั้นมาชื่อเสียงของ ชาบู-ชาบู ก็เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้นทั้งในโตเกียว และต่อมาถึงทวีปเอเชีย จนกระทั่งปัจจุบันเป็นที่รู้จักทั่วทั้งโลก
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรีได้ให้ความหมายของชาบูชาบูว่า ชาบูชาบู เป็นอาหารญี่ปุ่นประเภทหม้อไฟแบบหนึ่ง เป็นอาหารมื้อหลัก คล้ายกับสุกี้ยากี้ โดยการเสิร์ฟที่อุณหภูมิร้อน มีส่วนผสมหลักได้แก่ เนื้อวัวแล่บางๆ อาหารทะเล ผัก เต้าหู้ บะหมี่ โดยการปรุงจะนำวัตถุดิบจำพวกผักลงต้มในน้ำซุป และปล่อยทิ้งไว้สักพัก จากนั้นนำส่วนผสมอย่างอื่น เช่น เต้าหู้ บะหมี่ ลงตุ๋นให้เข้ากัน ตามด้วยเนื้อ (วัว, หมู, ไก่, หมู, ปลา) นำมาแล่บางๆ แล้วนำลงไปแกว่งในน้ำซุปร้อนๆ ให้พอสุกได้ที่แล้วจิ้มน้ำจิ้มกิน ซึ่งน้ำจิ้มชาบูชาบูมี 2ชนิดคือ น้ำจิ้มปอนซึ จะออกรสเค็มอมเปรี้ยว และน้ำจิ้มงา ออกรสหอม ปัจจุบัน ชาบูชาบูมีหลากหลายประเภทให้เลือกรับประทาน ทั้งแบบดั้งเดิมและแบบประยุกต์
ชาบูชาบูดั้งเดิมส่วนผสมหลักของชาบูชาบู ได้แก่ เนื้อแล่บางๆ อาหารทะเล ผักสด ซึ่งผักสดที่นิยมได้แก่ เห็ดหอมสด เห็ดเข็มทอง ผักกาดขาวและเต้าหู้ ส่วนที่เป็นน้ำซุปจะใช้สาหร่ายทะเลชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า คมบุ เป็นส่วนผสม นอกจากนี้ที่ขาดไม่ได้คือน้ำจิ้ม ซึ่งมี 2 ชนิด คือ น้ำจิ้มงา และน้ำจิ้มพอนสึ
น้ำจิ้มงา จะมีส่วนผสมหลักก็คือ งาอบขาว กระเทียมบด และโชยุ น้ำจิ้มงาจะออกรสหอมนุ่มกลิ่นงาให้ได้รสชาติจะออกเปรี้ยวซ่าที่ลิ้น
สูตรการทำน้ำจิ้มงาออนไลน์จะประกอบด้วย
- งาขาว 250 กรัม
- โชยุ 200 มิลลิลิตร
- น้ำส้มสายชูญี่ปุ่น 200 มิลลิลิตร
- น้ำเปล่า 300 มิลลิลิตร
- น้ำตาลทรายขาว 180 กรัม
- มายองเนส 275 กรัม
- น้ำมันงา 2 ช้อนชา
วิธีการทำ
นำงาขาวไปล้างให้สะอาด ผ่านน้ำประมาณ 5-10 รอบ จากนั้นตากงาขาวให้แห้ง หรือเอางาขาวที่ล้างแล้วไปคั่วบนกระทะ ปั่นงาขาวที่ล้างแล้ว กับเครื่องปรุงที่เป็นของเหลวทั้งหมด ได้แก่โชยุ น้ำส้มสายชูญี่ปุ่น น้ำเปล่า โดยปั่นจนงาละเอียด เทลงหม้อ แล้วจัดการเทเครื่องปรุงที่เหลือลงไปผสม คือน้ำตาล มายองเนส น้ำมันงา แล้วต้มด้วยไฟอ่อนๆ คนเรื่อยๆ จนกว่าน้ำตาลจะละลาย หลังจากนั้นสามารถเอาไปทานเป็นน้ำจิ้มชาบูชาบู ได้เลย
น้ำจิ้มพอนสึ (โชยุผสมน้ำส้มสายชู) จะออกรสเค็มอมเปรี้ยว สูตรการทำน้ำจิ้มพอนสึออนไลน์จะประกอบด้วย
- โชยุญี่ปุ่น 1 1/2 ถ้วยตวง
- น้ำตาลทราย 8 ช้อนโต๊ะ
- น้ำเปล่า 2/3 ถ้วยตวง
- น้ำส้มสายชูกลั่น 5 เปอร์เซ็นต์ 1 ถ้วยตวง + 2 ช้อนโต๊ะ
- ฮอน-ดาชิ 2 ช้อนโต๊ะ +2 ช้อนชา
- น้ำมะนาวสด 1 ช้อนโต๊ะ +2 ช้อนชา
ขั้นตอนการทำ นำโชยุญี่ปุ่น น้ำเปล่า และน้ำส้มสายชู มาใส่รวมกันแล้วคนให้เข้ากัน จากนั้นใส่ฮอน-ดาชิ และน้ำตาลทราย คนให้ละลาย เพิ่มรสชาติ และกลิ่นให้สดชื่นด้วยน้ำมะนาวสด พร้อมจัดเสิร์ฟ หลังจากผสมแล้วเก็บในภาชนะปิดสนิท เก็บในอุณหภูมิ 1-5 องศาเซลเซียส ได้นานประมาณ 5 วัน
ชาบูชาบูแบบญี่ปุ่น วิธีทำชาบูชาบูค่อนข้างเรียบง่าย มีอุปกรณ์ที่จำเป็นแบ่งได้เป็น 3 ประเภทด้วยกันประกอบด้วยวัตถุดิบ, น้ำซุปดาชิ และซอส / น้ำจิ้ม ส่วนของน้ำซุปดาชิใช้สาหร่ายคอมบุ โดยใส่น้ำลงไปในหม้อดินหรือหม้อชาบูชาบูและใส่สาหร่ายคอมบุลงไปต้มเป็นน้ำซุปดาชิ หลังจากนั้นก็คีบสาหร่ายคอมบุออกก่อนน้ำเดือด ส่วนวัตถุดิบพวก เนื้อสัตว์สไลด์บางๆ เช่น เนื้อวัวหรือเนื้อหมู ปลานิยมใช้เนื้อปลาสไลซ์บางกว่าซาชิมิ เช่น ปลาสำลีญี่ปุ่น ส่วนผักนิยมใช้ผักกาดขาว ต้นหอม ผักกาดแก้ว เห็ดหอม เห็ดเข็มทอง เห็ดชิเมจิ ตั้งโอ๋ และเต้าหู้ สำหรับ ซอส / น้ำจิ้ม ได้แก่ ซอสพอนสึ ใช้คู่กับ ผักหรือเครื่องเทศ (เช่น ต้นหอม, หัวไชเท้าฝาน, โมมิจิโอโรชิ) และซอสงา
ชาบูชาบู เป็นอาหารที่ได้รับความนิยมไม่เพียงแต่เฉพาะในประเทศญี่ปุ่น แต่ยังได้รับความนิยมในย่านที่มีชาวญี่ปุ่นได้ไปอาศัยอยู่ในประเทศนั้นๆ ด้วย ที่เรามักเรียกว่า “Little Tokyos” หรือ “Japantowns” เช่นสหรัฐอเมริกา แคนาดา รวมถึงประเทศไทยด้วย และทุกวันนี้ในประเทศไทยก็ได้มีหลากหลายร้านชาบูที่ให้ลิ้มลอง แต่มีการดัดแปลงน้ำจิ้มและมีการเพิ่มลูกชิ้นต่างๆ ลงไปในหม้อ
ปัจจุบันแม้ในประเทศญี่ปุ่นเองก็มีกี่ปรับปรุงส่วนผสมและซอสสำหรับชาบูชาบูเพื่อให้เหมาะสมมากขึ้นจากเวปไวด์ออนไลน์ได้มีการกล่าวว่าซอสสำหรับชาบูชาบูนอกจากน้ำจิ้มงากับพอนสึแล้วยังมีซอสที่เรียกว่า
1. โอโรชิดาเระ: ซอสพอนสึผสมหัวไชเท้าฝาน โดยมีรสชาติเข้ากับชาบูชาบูเนื้อปลาได้อย่างยอดเยี่ยม
2. โชกะโชยุดาเระ: ซอสโชยุดาชิผสมขิงฝานรสเผ็ดจี๊ดจ๊าด โดยรสชาติเข้ากับเนื้อวัว-หมู-ไก่และเนื้อปลาทั้งหมด
3. โกมะมิโซะดาเระ: ซอสงาผสมมิโซะ (เต้าเจี้ยว) โดยนิยมใช้จิ้มเนื้อหมูรับประทาน
4. ซอสบ๊วย: มีรสชาติเข้ากับผักได้เป็นอย่างดี โดยทำให้สามารถทานเนื้อสัตว์อย่างเนื้อหมูได้อร่อย
นอกจากนี้เราสามารถทำซอสสไตล์ตัวเองขึ้นมาได้อย่างอิสระไม่ว่าจะเป็นหอมใหญ่ฝาน, กระเทียม หรือน้ำมันงารสเผ็ด
เมื่ออาหารชนิดนี้ได้รับความนิยมไปทั่วโลกที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมด้านอาหารและรสชาติที่แตกต่างกันตามแต่ละประเทศ อาหารชนิดย่อมมีการดัดแปลงเพื่อให้เหมาะกับพื้นที่นั่นๆ อย่างเช่น ชาบูชาบูเมื่อเข้ามาประเทศไทยแล้วจากคำเรียกชาบูชาบู คนไทยส่วนใหญ่จะเรียกเป็น “ชาบู” น้ำจิ้มชาบูชาบูที่ดั้งเดิมมีเพียง 2 ชนิดคือ น้ำจิ้มงาและพอนสึ มีการดัดแปลงน้ำจิ้มที่จะใช้กับชาบูเพิ่มขึ้นเช่น น้ำจิ้มซีฟู้ด น้ำจิ้มแจ๋ว เป็นต้น ดังนั้นจากข้อความนี้เป็นต้นไปจะขอใช้คำว่าชาบู แทนคำว่าชาบูชาบู ส่วนน้ำซุปในประเทศไทยก็มีหลากหลายนอกเหนือจากต้นตำหรับ เช่นน้ำซุปต้มยำ น้ำซุปอูด้ง น้ำซุปกิมจิ เป็นต้น อาจกล่าวได้ว่าร้านชาบูจำนวนมากในไทยมีการปรับปรุงสูตรและวิธีการกินให้เหมาะสมกับวัตถุดิบ รวมถึงความชอบและนิสัยของคนไทยซึ่งไม่ได้ตรงกับต้นฉบับไปเสียทั้งหมด
สำหรับประเทศไทยเมื่อพิจารณาจากลักษณะการทำธุรกิจชาบูสามารถพิจารณาเป็น 2 ประเภท คือ ชาบูหม้อไฟ ซึ่งเป็นร้านอาหารที่บริการชาบูมีโต๊ะให้นั่งรับประทาน ซึ่งประเภทนี้อาจจะแบ่งตามลักษณะการขายออกเป็น ร้านชาบูตามสั่ง หรือ ร้านชาบูบุฟเฟ่ต์ ชาบูประเภทนี้เหมาะสำหรับการรับประทานร่วมกัน การสังสรรค์ ส่วนอีกประเภทหนึ่งคือร้านชาบูเสียบไม้ เป็นรูปแบบที่ขายวัตถุดิบเสียบไม้คิดราคาตามจำนวนไม้เป็นราคาไม้ละ ซึ่งจะมีความหลากหลายของวัตถุดิบให้เลือกและมีพนักงานบริการต้มให้ รูปแบบนี้นอกจากตั้งอยู่กับที่แล้ว สามารถเคลื่อนย้ายทำเลได้ เช่นการขายตามตลาดนัดต่างๆ เน้นการนำกลับไปรับประทานที่บ้าน
ทั้งสุกี้ยากี้และชาบูต่างก็เป็นอาหารหม้อไฟที่มีกำเนิดจากประเทศญี่ปุ่น ข้อมูลจาก BRITANNICA สารานุกรมเล่มแรกของโลกอธิบายความหมายของ ‘สุกี้ยากี้’ และ ‘ชาบูชาบู’ ไว้ว่ามีความแตกต่างกันหลายอย่างโดยเฉพาะในแง่ของวิธีการปรุงให้สุกและวิธีการกินและน้ำจิ้ม
โดยสุกี้ยากี้ มีวิธีการปรุงอาหารที่ใช้เนื้อวัวและผักนำมาต้มในรูปแบบที่เรียกว่า nabemono คือการต้มทุกอย่างรวมในหม้อเดียว ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีสุกี้ยากี้โบราณจะไม่ใช้เนื้อสัตว์สี่ขา เพราะคนญี่ปุ่นโบราณเคร่งครัดศาสนา และห้ามไม่ให้มีการฆ่าสัตว์สี่เท้าเพื่อเป็นอาหาร ต่อมาในช่วงทศวรรษที่ 1860 ญี่ปุ่นเริ่มมีการติดต่อกับชาติตะวันตก ยุคสมัยเปลี่ยนไปผู้คนก็รับเอาวัฒนธรรมการกินเนื้อวัวเข้ามาด้วย โดยสุกี้ยากี้วิธีการปรุงรับประทานเริ่มต้นจากคนญี่ปุ่นจะใช้หม้อเหล็กทรงตื้น ตั้งบนเตาถ่าน นำเนื้อวัวสไลด์บางๆ มาผัดกับน้ำมันให้สุกเป็นสีน้ำตาล จากนั้นเติมปรุงรสน้ำซุปด้วยน้ำตาล เหล้าซาเก เหล้ามิริน และซอสถั่วเหลืองให้ออกมาเป็นน้ำดำ เติมเต้าหู้ เห็ดหอม หัวหอม เส้นชิราทากิ (เส้นบุก) และผักต่างๆ แล้วนำส่วนผสมทุกอย่างลงหม้อต้มพร้อมกันรอให้เดือดก่อนเริ่มรับประทาน โดยเนื้อสัตว์ในสุกี้ยากี้จะซึมซาบเอารสหวานเค็มจากน้ำซุป ก่อนจะถูกนำมาจิ้มไข่แดงดิบเพื่อให้รสชาติละมุนลิ้นลื่นคอ
ในขณะที่ชาบูชาบูได้รับความนิยมในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง มีวิธีสำหรับการปรุงและวิธีการรับประทานแตกต่างจากสุกี้ยากี้ คือชาบูชาบูใช้หม้อลึกและใส่น้ำซุปเยอะ นิยมใช้น้ำซุปรสอ่อน เพื่อให้สัมผัสรสชาติที่แท้จริงของผักและเนื้อสัตว์ น้ำซุปจึงมักจะเป็นซุปใส วิธีการกินคือต้องนำผักต่างๆ ลงไปต้มในหม้อก่อน จากนั้นเมื่อน้ำเดือดจึงคีบเนื้อวัวสไลด์บางๆ มาวนในน้ำเดือดแค่พอสุก เมื่อเนื้อสุกจึงนำขึ้นจากหม้อจุ่มลงในน้ำจิ้มแล้วรับประทาน ผักที่ต้มในหม้อก็คีบกินในลำดับต่อมาและนิยมซดน้ำซุป
ความแตกต่างของน้ำซุปและน้ำจิ้มระหว่างสุกี้ยากี้และชาบู โดยสุกี้ยากี้มีการปรุงน้ำซุปปรุงด้วยซีอิ๊วญี่ปุ่น มิริน สาเก และน้ำตาล ได้น้ำซุปเป็นสีดำ รสชาติหวานนำ เวลาใส่น้ำซุปจะใส่แค่ขลุกขลิกให้พอดีกับเนื้อสัตว์และผัก ไม่นิยมซดน้ำซุปกิน และไม่มีน้ำจิ้ม แต่นิยมจิ้มกินกับไข่ไก่สดที่ตีแล้ว เพื่อเพิ่มความหอมมันและเข้มข้น ในขณะที่น้ำชุปของชาบูชาบูปรุงด้วยสาหร่ายคอมบุและปลาโอเป็นหลัก ได้น้ำซุปใส รสชาติกลมกล่อมบางเบา เวลาใส่น้ำซุปลงหม้อจะใช้น้ำซุปปริมาณมาก เพราะเมนูนี้นิยมซดน้ำซุประหว่างกินไปด้วย และมีน้ำจิ้ม เสิร์ฟเคียงมาให้ 2-3 ชนิด ได้แก่ น้ำจิ้ม Hatsuga Genmai ทำมาจากข้าวกล้องงอก น้ำจิ้มพอนสึทำจากเลมอน น้ำส้มสายชู ซอสถั่วเหลือง เหล้ามิริน และน้ำจิ้มงาทำมางาขาวที่มีกลิ่นหอม รสชาติหวานมัน ส่วนใหญ่นิยมน้ำจิ้มพอนสึและน้ำจิ้มงาเป็นหลัก
เมนูของประเทศไทยที่มีลักษณะคล้ายกับชาบูชาบูซึ่งเป็นหม้อไฟไทยแท้ก็คือจิ้มจุ่ม เป็นหม้อไฟสไตล์อีสานรสแซ่บ มีส่วนประกอบหลักประกอบไปด้วยเนื้อสัตว์ชนิดต่างๆ ไข่ไก่ วุ้นเส้น และผักสดต่างๆ เหมือนกับชาบูชาบู แต่แตกต่างอยู่ตรงที่น้ำซุปที่ปรุงที่เน้นใส่สมุนไพรจำพวกตะไคร้ ใบมะกรูด ใบผักชีฝรั่ง ข้าวคั่วเพิ่มความหอม พริกป่น และเสิร์ฟคู่กับน้ำจิ้มแซ่บสไตล์อีสานนั่นคือ เป็นน้ำจิ้มแจ่วสามรส ได้แก่รสเปรี้ยว รสเค็ม รสหวาน และเพิ่มความเข้มข้นด้วยข้าวคั่วและพริกป่น ส่วนวิธีการปรุงและวิธีการกิน นิยมกินแบบชาบูชาบู นั่นคือใส่ผักต่างๆ ลงไปในหม้อต้มก่อน พอน้ำเดือดจึงคีบเนื้อสัตว์ลงไปจุ่มๆ แกว่งๆ ในน้ำซุปจนเนื้อสุก แล้วจึงคีบมาจิ้มในถ้วยน้ำจิ้มก่อนรับประทาน แต่วิธีการกินก็ไม่ได้ตายตัว บางคนก็ชอบที่จะใส่ทุกอย่างลงไปต้มพร้อมกันทีเดียว รอให้สุก แล้วค่อยตักออกมากินก็ทำได้เช่นกัน ซึ่งต่อมาได้มีการประยุกต์น้ำจิ้มแจ๋วมาใช้กันชาบูชาบูด้วยเช่นกัน
จากส่วนผสมหลักของชาบูชาบู ได้แก่ เนื้อแล่บางๆ อาหารทะเล ผักสด ซึ่งผักสดที่นิยมได้แก่ ผักกาดขาว ต้นหอม ผักกาดแก้ว เห็ดหอม เห็ดเข็มทอง เห็ดชิเมจิ ตั้งโอ๋ และเต้าหู้ และผักอื่นๆ เรามาดูกันว่าผักแต่ละชนิดมีคุณค่าทางอาหารอะไรกันบ้าง
อุดมไปด้วยวิตามินซีและแคลเซียม ทำให้ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันพร้อมทั้งช่วยป้องกันรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน นอกจากนี้ยังช่วยแก้ไอ บรรเทาอาการท้องเสีย ช่วยในการย่อยอาหาร แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ช่วยขับและรักษานิ่วในปัสสาวะ รักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ทั้งยังรักษามะเร็งในลำไส้ได้อีกด้วย
เป็นเห็ดที่มีเส้นใยมาก ป้องกันภาวะคลอเลสเตอรอลสูง ไม่ก่อให้เกิดโรคหัวใจ ช่วยในการขับถ่าย สามารถต้านมะเร็งได้ ซึ่งในเห็ดเข็มทองมีสารเฟลมมูลินที่ช่วยในการยับยั้งการเกิดเซลล์มะเร็งในร่างกาย
ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ลดไขมันในเลือด ช่วยให้เลือดลมไหลเวียนดี และยังช่วยบำรุงกระดูและฟัน
จะให้ไฟเบอร์ วิตามินเอ วิตามินซี ช่วยต้านมะเร็ง ลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด เสริมสร้างความแข็งแรงของมวลกระดูก ป้องกันภาวะโลหิตจาง แก้ปัญหาท้องอืดท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย ขับพยาธิ
ผักกาดแก้วอุดมไปด้วยวิตามินและสารอาหารมากมาย เช่น วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินเค โฟเลต โพแทสเซียม ช่วยต้านอนุมูลอิสระ เพิ่มประสิทธิภาพการมองเห็นและอาจช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ในผักกาดแก้ว ยังมีฮีโมโกลบิน ที่จะช่วยรักษาโรคโลหิตจางโดยเฉพาะในหญิงมีครรภ์
ช่วยล้างและขับสารพิษที่ตกค้างอยู่ในตับ ช่วยลดระดับน้ำตาลและปริมาณไขมันที่อุดตันในเส้นเลือด ต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ช่วยป้องกันโรคโลหิตจาง ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ช่วยในเรื่องของการควบคุมน้ำหนักได้ดี รักษาผิวพรรณให้ดูสดใส
มีเบต้าแคโรทีน แคลเซียม วิตามินซี วิตามินเอ ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ช่วยทั้งป้องกันและรักษามะเร็ง แก้ร้อนใน ปากเป็นแผล เสริมการทำงานของม้าม เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของกระเพาะอาหาร ขจัดความชื้นและปรับการทำงานของปอดให้สมดุล ละลายเสมหะ แก้อาการไอ สะอึก เจ็บหน้าอก ปวดศีรษะ ชาวจีนใช้ตังโอ๋ช่วยขจัดสารพิษทั้งหลายออกจากร่างกาย
มีส่วนช่วยให้ผิวพรรณเปล่งปลั่งสดใส มีน้ำมีนวล มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระ ชะลอวัย ป้องกันการเกิดหรือลดอัตราการเกิดของโรคมะเร็ง ช่วยบำรุงสายตา เป็นยาดับร้อน แก้อาการร้อนใน บำรุงโลหิต
มีแคลเซียม ฟอสฟอรัส ทำให้สุขภาพของเหงือกและฟันแข็งแรง ลดความเสี่ยงของผู้สูงอายุที่จะเป็นโรคกระดูกพรุนได้อีกด้วย วิตามิน B3 มีส่วนช่วยในการลดระดับคอเลสเตอรอลที่ไม่ดี (LDL) ป้องกันความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ยังมีเบต้าแคโรทีนสูง ซึ่งจะทำหน้าที่กระตุ้นเซลล์ภูมิต้านทาน ป้องกันโรคมะเร็ง
ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย บำรุงและรักษาสายตา เสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง
ลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็ง ลดความเสี่ยงการเกิดหลอดเลือดหัวใจตีบ ป้องกันกล้ามเนื้อเสื่อม เพิ่มความกระฉับกระเฉง บรรเทาอาการปวดตามข้อ ลดความเสี่ยงมะเร็ง แก้อาการเป็นตะคริว เป็นผักที่มีเส้นใยมาก มีไขมันน้อย
นอกจากเป็นแหล่งโปรตีนแล้วยังมี วิตามินบี 1 ช่วยลดอาการเหน็บชา วิตามินเอ บำรุงสายตา ฟอสฟอรัส และวิตามินบี 3 ช่วยบำรุงระบบประสาทและสมอง ก็มีไขมันสูงด้วยเช่นกัน เนื้อหมูสันในเป็นเนื้อส่วนที่มีไขมันแทรกน้อยที่สุดและให้โปรตีนสูง
มีปริมาณโปรตีนที่สูงถึงร้อยละ 20 ของน้ำหนัก และมีธาตุเหล็กที่ช่วยบำรุงเลือด วิตามินบี 12 ช่วยลดความเสี่ยงจากโรคหัวใจและสมองเสื่อม
เป็นแหล่งโปรตีนที่ดีมาก ย่อยง่าย ไขมันน้อย นอกจากนี้ยังมีวิตามินบี 3 ช่วยบำรุงระบบประสาทและสมอง วิตามินเอ ช่วยบำรุงสายตา วิตามินบี 12 ช่วยบำรุงเซลล์เม็ดเลือด และกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกาย
เป็นแหล่งโปรตีนที่ย่อยง่าย ไขมันต่ำ ปราศจากคาร์โบไฮเดรต มีโอเมกา 3 ช่วยบำรุงสมอง สายตา เสริมสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันโรคหัวใจ วิตามินเอ บี และดี มีไอโอดีน ช่วยป้องกันโรคคอพอก ธาตุเหล็ก ช่วยบำรุงเลือด และมีแคลเซียม ช่วยบำรุงกระดูก
เป็นแหล่งโปรตีนชั้นดี มีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายเป็นชนิดย่อยง่ายที่ร่างกายนำไปใช้ประโยชน์ได้ทันที มีแร่ธาตุ และคาร์โบไฮเดรต ช่วยส่งเสริมร่างกายให้มีความแข็งแรง แคลเซียมช่วยบำรุงเสริมสร้างกระดูกและลดความเสี่ยงของโรคกระดูกพรุน
เป็นอาหารทะเลยอดที่อุดมไปด้วยไขมันคอเลสเตอรอล โอเมก้า 3 วิตามินอี โปรตีน และแร่ธาตุต่าง ๆ การบริโภคปลาหมึกช่วยเพิ่มไขมันดี ลดความดัน สมานแผล
นอกจากนี้ยังมีผักอื่นๆ ที่นำมาใช้ในการทำชาบู เมื่อรวมทั้งส่วนที่เป็นเนื้อสัตว์แล้ว กล่าวได้ว่าชาบูเป็นเมนูที่ให้คุณค่าทางโภชนาการครบทั้ง 5 หมู่ ประกอบไปด้วย
1. โปรตีน ที่ได้จากเนื้อต่างๆ จากชาบู: โปรตีนช่วยในการเจริญเติบโต ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ สร้างกระดูก กล้ามเนื้อ น้ำย่อย ฮอร์โมน สร้างใยคลอลาเจนใต้ชั้นผิวหนังในร่างกาย ช่วยให้ผิวมีความยืดหยุ่น นอกจากนี้โปรตีนยังมีประโยชน์ต่อการฟื้นตัวของร่างกายและระบบภูมิต้านทาน และระบบย่อยอาหาร
2. คาร์โบไฮเดรตจากเครื่องเทศหรือจำพวกแป้งหรือจากผักบางชนิด: ให้พลังงานและความร้อน ช่วยรักษาโปรตีนให้ร่างกายนำไปใช้ในทางที่เป็นประโยชน์มากที่สุด
3. เกลือแร่และแร่ธาตุจากพืชผักต่างๆ ในชาบู: แร่ธาตุที่ได้รับอย่างเช่นแคลเซียม ฟอสฟอรัส ช่วยในเรื่องความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ฟัน ช่วยทำให้ผิวพรรณสดใส ช่วยให้ระบบการย่อย และการขับถ่ายเป็นปกติ
4. วิตามิน จากผักที่เป็นส่วนประกอบของชาบู: วิตามินที่ได้จากผักได้แก่ วิตามินเอ วิตามินอี วิตามินบี3 วิตามินบี 1 วิตามินบี 12 ซึ่งวิตามินเหล่านี้มีประโยชน์ต่อร่างกายเช่น บำรุงสายตา ช่วยบำรุงเซลล์เม็ดเลือด ช่วยบำรุงสมองช่วยต้านอนุมูลอิสระ ช่วยทั้งป้องกันและรักษามะเร็ง ช่วยลดอาการเหน็บชา ลดความเสี่ยงการเกิดหลอดเลือดหัวใจตีบ ป้องกันกล้ามเนื้อเสื่อม เพิ่มความกระฉับกระเฉง บรรเทาอาการปวดตามข้อ เป็นต้น
5. ไขมันจากเนื้อที่มีระดับปานกลาง: ให้พลังงานและให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย ช่วยในเรื่องการดูดซึมของวิตามินที่ละลายในไขมัน ได้แก่ วิตามินเอ วิตามินอี วิตามินดี และวิตามินเค นอกจากนี้ไขมันยังช่วยในการป้องกันการกระทบ กระเทือนของอวัยวะภายในอีกด้วย
เนื้อหมู : ส่วนมากจะใช้เนื้อหมู 3 ส่วน ได้แก่เนื้อหมูส่วนสันนอก สันคอหมู และหมูสามชั้น ซึ่งแต่ละส่วนนั้นจะมีความนุ่มและเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันออกไปดังต่อไปนี้
- เนื้อหมูส่วนสันนอก มีความอร่อยตรงที่มีมันแทรกอยู่ตามเนื้อเล็กน้อย ทำให้เมื่อนำไปทำชาบูแล้ว จะได้ชิ้นเนื้อที่มีความหนานุ่มลงตัว แต่ข้อควรระวังคือไม่ควรลวกนานจนเกินไป จะทำให้เนื้อหมูส่วนนี้แข็งไม่น่ากิน
- สันคอหมู หากชอบหมูชาบูที่มีความนุ่ม จะต้องเลือกเนื้อส่วนสันคอมาใช้ในการทำชาบู เพราะเป็นส่วนที่มีมันแทรกอยู่ค่อนข้างมาก เมื่อนำมาทำชาบูแล้ว เนื้อสัมผัสจะนุ่ม ไม่เหนียว
- หมูสามชั้น หนึ่งในเนื้อหมูสุดโปรดของหลายๆ คน เพราะเนื้อหมูสามชั้นนั้นมีความนุ่มผสมกับความมัน เคี้ยวแล้วลงตัวสุด ๆ
เนื้อวัว : เนื้อวัวส่วนที่ทำชาบูแล้วอร่อยที่สุดคือส่วนของเนื้อสัน เพราะเนื้อในส่วนนี้เมื่อนำไปทำชาบูจะมีความนุ่มและละลายในปากอร่อยสุดๆ เนื้อสันนั้นสามารถแยกย่อยเป็นส่วนยอดนิยมได้อีกคือเนื้อสันนอกติดมัน และเนื้อสันใน ทั้งสองอย่างนี้ เนื้อสันในจะนั้นนุ่ม และมีไขมันน้อย จึงรับประทานง่าย และเป็นส่วนอร่อยที่สุดสำหรับการนำมาทำชาบู พร้อมทั้งราคาแพง
การเลือกซื้อปลา: ปัจจุบันเนื้อปลาที่นิยมนำมาเป็นเมนูอาหาร มีทั้งเนื้อปลาสดและเนื้อปลาแช่แข็ง การใช้เนื้อปลาแช่แข็งเพื่อความสะดวกสบาย ใช่เดียวกับชาบูทำทานเองที่บ้าน ก็มักจะใช้เนื้อปลาประเภทนี้ ส่วนการเลือกใช้เนื้อปลาประกอบอาหารมีวิธีเลือกซื้อ ดังนี้
- ปลามีเกล็ด ส่วนมากเป็นปลาทะเลที่นิยมรับประทานและเป็นปลามีเกล็ด เช่น ปลากะพง การเลือก
ปลากะพง สิ่งแรกให้ดูสีของปลาและเกล็ด ผิวจะต้องใส สีเงิน สีปลาไม่คล้ำ เกล็ดและหนังปลาไม่ขุ่น แต่มันเงา เกล็ดปลาจะต้องเรียงกันเป็นระเบียบ เนื้อจะต้องแน่น กดแล้วเด้ง ไม่ยุบ เหงือกจะต้องมีสีสด ไม่ซีด ตาของปลากะพงจะต้องมีใสไม่ขุ่นมัว หรือตามีสีเหลือง หางและ ครีบต้องดูแข็งแรงและชุ่มชื่น ไม่แห้งหรือขาด
- ปลาไม่มีเกล็ด ปลาทะเลไม่มีเกล็ดที่นิยมนำมาประกอบอาหารมีหลายชนิด เช่น ปลาสำลี ปลาจาระเม็ด ปลาไม่มีเกล็ด ผิวหนังจะมีลักษณะลื่นๆ การเลือกพิจารณาที่ผิวหนังของปลาควรมีสีสดและไม่ขุ่น ตาปลาจะต้องกลม ใส ไม่ขุ่นหรือเป็นสีเหลือง ที่สำคัญตาจะต้องไม่หลุดออกจากเบ้า เนื้อปลาแน่นไม่เละ กดแล้วเด้งทันที ลำตัวอวบอ้วน เหงือกปลามีสีแดงสด ยังมีความฉ่ำ ไม่มีสีเขียวคล้ำ
- เนื้อปลาแช่แข็ง การเลือกซื้อเนื้อปลาแช่แข็ง ควรเลือกที่บรรจุอยู่ในสภาพดี ไม่มีรอยรั่วหรือฉีกขาด บรรจุภัณฑ์ไม่มีรอยเปื้อน และตรวจดูวันหมดอายุบนฉลาก
2. การเลือกซื้อกุ้ง: กุ้งเป็นอาหารทะเลที่ได้รับความนิยมนำมาประกอบอาหารได้เกือบทุกเมนู รวมทั้งเมนูชาบู การเลือกกุ้งให้เหมาะกับเมนูอาหารยังขึ้นอยู่กับชนิดของและขนาดของกุ้ง เช่น กุ้งล็อบสเตอร์ กุ้งมังกร กุ้งขาว กุ้งแชบ๊วย กุ้งเสือ และกุ้งแม่น้ำ เป็นต้น วิธีการเลือกซื้อกุ้งทำได้ ดังนี้
- หัวและลำตัวของกุ้งจะต้องติดแน่น ไม่หลุดออกจากกัน และไม่เป็นสีดำ
- ตาของกุ้งจะต้องใส ไม่ขุ่น
- เปลือกของกุ้งจะต้องใสเห็นถึงตัวกุ้ง ไม่ขุ่นมัวหรือมีสีแดง
- เนื้อของกุ้งจะต้องแน่นและเด้ง
- หางกุ้งจะต้องไม่แห้ง ยังคงความชุ่มชื่น ที่สำคัญไม่เป็นสีแดง
3. การเลือกซื้อปลาหมึก: ปลาหมึก เป็นอาหารทะเลอีกชนิดหนึ่งที่นอกจากนิยมนำมารับเป็นส่วนประกอบในเมนูชาบูแล้ว ปลาหมึกยังสามารถใช้ประกอบอาหารได้เกือบทุกประเภท ทั้งปิ้ง ย่าง ผัด ทอด หรือยำ และการเลือกปลาหมึกมาประกอบอาหารให้ได้รสชาติที่ดีและอร่อย ต้องเป็นปลาหมึกสดๆ เท่านั้น โดยการเลือกปลาหมึกพิจารณาได้จากสิ่งต่อไปนี้
หัวของหมึกต้องติดแน่นกับตัว เนื้อต้องแน่นแข็งไม่เละ
- สีของปลาหมึกจะไม่มีสีออกแดง แต่จะเป็นสีใสและไม่ขาวจนเกินไป
- หัวของปลาหมึกจะไม่ยืดของจากตัวมากจนเกินไป
- ไม่มีกลิ่นฉุนของฟอร์มาลีนหรือสารเคมีผสมอยู่
- ควรเลือกซื้อหมึกสดที่วางบนน้ำแข็งหรือวางในตู้แช่เพราะจะช่วยรักษาความสดของเนื้อหมึกได้นานกว่า
1 ก.ย. 2566
16 พ.ย. 2566
29 พ.ย. 2565
2 ส.ค. 2566